การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความท้าทาย และโอกาส
จากสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงและส่งผลกระทบในวงกว้างต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ต้นทุนการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้นจากการแปรปรวนของสภาพอากาศ และการลดลงของผลผลิตทางการเกษตรที่ส่งผลต่อราคาสินค้า ซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้า กำลังซื้อของผู้บริโภค และความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ นอกจากนี้ การใช้ทรัพยากรและพลังงานของภาคธุรกิจยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดมลพิษและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นตัวเร่งให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน ผลกระทบต่อชุมชนยังครอบคลุมถึงปัญหาด้านสุขภาพ การย้ายถิ่นฐานจากภัยพิบัติ และความเหลื่อมล้ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ขาดโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม
อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังนำมาซึ่งโอกาสสำหรับ เซ็นทรัล รีเทล ในการพัฒนาแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืน เช่น การนำนวัตกรรมมาใช้ในห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร จากข้อตกลงปารีสและการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC COP) ที่เน้นย้ำถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนร่วมกันในระดับโลก
เซ็นทรัล รีเทล ตระหนักถึงความสำคัญและความเร่งด่วนของการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงได้กำหนดเป้าหมายและแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะสั้นและระยะยาว โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 และ 2 ลงร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และมุ่งสู่การบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 ความมุ่งมั่นดังกล่าวสะท้อนถึงการปรับตัวและความพร้อมในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการสร้างคุณค่าร่วมให้แก่ผู้มีส่วนได้เสีย และสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว
แนวทางการบริหารจัดการ
โครงสร้างการกำกับดูแลด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เซ็นทรัล รีเทล มอบหมายให้คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน ผู้บริหารแต่ละหน่วยธุรกิจ คณะทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และคณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครอบคลุมการกำหนดกลยุทธ์และแผนงาน การดำเนินงาน การตรวจสอบ และติดตามผล รวมทั้งมีคณะกรรมการนโยบายความเสี่ยง และคณะทำงานด้านความเสี่ยง ทำหน้าที่กำกับดูแลและบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ทั้งนี้จัดให้มีการประชุมเพื่อหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
คณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน |
|
คณะกรรมการนโยบายความเสี่ยง |
|
คณะผู้บริหาร |
|
คณะกรรมการด้านสิ่งแวดล้อม |
|
คณะทำงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน |
|
คณะทำงานด้านความเสี่ยง |
|
กรอบการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดกลยุทธ์ ReNEW เพื่อขับเคลื่อนทุกหน่วยธุรกิจให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ทั่วทั้งกลุ่มบริษัทฯ ภายในปี 2593 และจัดทำกระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้สอดคล้องตามกฎหมาย ข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับสากล เช่น มาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) และมาตรฐานเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS) S2 เป็นต้น โดยมีแนวทางครอบคลุมตั้งแต่การกำหนดนโยบายและกลยุทธ์ การประเมินความเสี่ยงและโอกาส การดำเนินงาน การติดตามผล ประเมินผล และรายงาน
1. นโยบายและกลยุทธ์ (Policy and Strategy)
เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ร้อยละ 30 ภายในปี 2573 และเป้าหมายระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (ขอบเขตที่ 1 และ 2) ภายในปี 2593 โดยได้จัดทำแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization Roadmap) เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งยังได้จัดทำแผนกลยุทธ์ ReNEW ซึ่งเป็นกลยุทธ์ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของ เซ็นทรัล รีเทล เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจที่สอดคล้องตามกฎหมาย ข้อกำหนด และมาตรฐานต่าง ๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับสากล
2. การประเมินความเสี่ยงและโอกาส (Risk and Opportunity Assessment)
การประเมินความเสี่ยงและโอกาสจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นกระบวนการสำคัญที่ช่วยให้ เซ็นทรัล รีเทล สามารถเตรียมความพร้อมและปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่าง ๆ โดย เซ็นทรัล รีเทล ได้มีการประเมินความเสี่ยงทางกายภาพ เช่น น้ำท่วม คลื่นความร้อน และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่าน เช่น การเปลี่ยนแปลงของนโยบาย กฎระเบียบ และพฤติกรรมของตลาด และการประเมินโอกาส เช่น การพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียว การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นและมาตรการตอบสนองที่เหมาะสมต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ
3. การดำเนินงาน (Implementation)
เซ็นทรัล รีเทล มีการดำเนินโครงการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นการลงทุนในเทคโนโลยีและอุปกรณ์ที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ การใช้รถบรรทุกขนส่งไฟฟ้า เป็นต้น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสนับสนุนแนวทางการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) ผ่านโครงการฟื้นฟูป่าไม้ และการปรับปรุงพื้นที่เกษตรร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน เช่น วนเกษตร และการเกษตรเชิงฟื้นฟู เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตลอดห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์พลังงานผ่านการจัดอบรมพนักงานและสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น คู่ค้า ลูกค้า และภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
4. การติดตาม ประเมินผล และรายงาน (Monitoring, Evaluation, and Reporting)
เซ็นทรัล รีเทล มีการเก็บรวบรวมและติดตามข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมขอบเขตที่ 1 2 และ 3 สอดคล้องตามมาตรฐาน The Greenhouse Gas Protocol (GHG Protocol) รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบ และประเมินผลความคืบหน้าในการดำเนินงานเทียบกับเป้าหมาย และรายงานผลการดำเนินงานด้านการจัดการสภาพภูมิอากาศตามมาตรฐานสากล เช่น แนวทางมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ (Task Force on Climate-related Financial Disclosures: TCFD) และมาตรฐานเรื่องการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ (IFRS) S2
The Task Force on Climate-Related Financial Disclosures (TCFD) Report 2023
โครงการสำคัญ
โครงการติดตั้งโซล่าร์เซลล์สำหรับห้างสรรพสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า
เซ็นทรัล รีเทล มีความมุ่งมั่นในการใช้พลังงานสะอาดและส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของห้างสรรพสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดต้นทุนค่าใช้จ่ายพลังงาน ในปี 2567 เซ็นทรัล รีเทล ได้ติดตั้งระบบโซล่าร์เซลล์แล้วทั้งสิ้น 160 แห่ง โดยในประเทศไทยมีการติดตั้งโซล่าร์เซลล์จำนวน 137 แห่ง ครอบคลุมหน่วยธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้าโรบินสัน ไลฟ์สไตล์ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โก โฮลเซลล์ ไทวัสดุ และศูนย์กระจายสินค้า และประเทศเวียดนาม จำนวน 23 แห่ง ครอบคลุมหน่วยธุรกิจ ได้แก่ ศูนย์การค้า Go! Mini go! ซูเปอร์มาร์เก็ต และลานชี มาร์ท โดยโครงการนี้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 166,565 เมกะวัตต์-ชั่วโมง ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 86,580 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า พร้อมทั้งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานได้กว่า 647 ล้านบาทต่อปี

โครงการส่งเสริมการขนส่งและการเดินทางที่ยั่งยืน
เซ็นทรัล รีเทล ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าพลังงานสะอาดในระบบโลจิสติกส์ โดยมีการใช้รถบรรทุกไฟฟ้าทั้งสิ้น 28 คัน ครอบคลุมศูนย์กระจายสินค้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ศูนย์กระจายสินค้าท็อปส์ และศูนย์กระจายสินค้าไทยวัสดุ และใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 48 คัน สำหรับกระจายสินค้าจากศูนย์ค้าส่ง โก โฮลเซลล์ ไปยังลูกค้า โดยสามารถลดการใช้น้ำมันดีเซลได้ 661,806 ลิตรต่อปี และลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 1,740 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังได้สนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของพนักงานและลูกค้า โดยได้ติดตั้งสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Stations) ครอบคลุมศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าทั้งในประเทศไทยและประเทศเวียดนาม โดยในปี 2567 เซ็นทรัล รีเทล มีสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าทั้งสิ้น 63 สถานี สามารถรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าพร้อมกันได้ 795 คัน โครงการเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของ เซ็นทรัล รีเทล ในการสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก และขับเคลื่อนการเดินทางอย่างยั่งยืนเพื่อตอบโจทย์เทรนด์อนาคตและไลฟ์สไตล์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

โครงการติดตั้งระบบควบคุมการจัดการเครื่องทำความเย็น และระบบบริหารจัดการพลังงาน
เซ็นทรัล รีเทล ติดตั้งระบบควบคุมการจัดการเครื่องทำความเย็น (Chiller Plant Manager System: CPMS) และระบบบริหารจัดการข้อมูลด้านพลังงาน (Energy Management Information System: EMIS) โดยเทคโนโลยีนี้ช่วยตรวจสอบและจัดการเครื่องทำความเย็นสำหรับระบบปรับอากาศในห้างสรรพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งจัดเก็บข้อมูลการใช้พลังงานในห้างสรรพสินค้า เช่น เครื่องทำความเย็น ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และเครื่องปรับอากาศ เพื่อระบุพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานสูง ช่วยให้สามารถวางแผนการลดพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2567 ได้มีการติดตั้งระบบ CPMS และ EMIS ที่ศูนย์การค้าโรบินสันไลฟ์สไตล์ จำนวน 10 สาขา สามารถลดการใช้พลังงานได้ 2,710 เมกะวัตต์-ชั่วโมง คิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1,355 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รวมทั้งลดต้นทุนด้านพลังงานได้ประมาณ 11.4 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลและโรบินสันได้ติดตั้ง ระบบ Building Automation System (BAS) ในทุกศูนย์การค้า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการพลังงานและควบคุมระบบอาคารแบบอัตโนมัติ เทคโนโลยีนี้ช่วยตรวจสอบและบริหารจัดการระบบไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศ และเครื่องทำความเย็นแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานและต้นทุนด้านพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

ผลการดำเนินงานปี 2567
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร
ขอบเขตที่ 1 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
ขอบเขตที่ 2 (Location-Based / Market-Based) (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
ขอบเขตที่ 3 (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า)
ความเข้มข้นการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ขอบเขตที่ 1 และ 2) (ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อบาท)
- ข้อมูลครอบคลุมขอบเขตการดำเนินงานของประเทศไทย เวียดนาม และอิตาลี
-
ขอบเขตที่ 3 ประกอบด้วย
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการซื้อวัตถุดิบ และบริการ (ปริมาณการใช้บรรจุภัณฑ์ และปริมาณการใช้น้ำ)
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงและพลังงาน
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการขนส่งและกระจายสินค้าต้นน้ำ
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการกำจัดของเสียที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมขององค์กร
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการเดินทางเพื่อธุรกิจ
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการเดินทางของพนักงาน
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการขนส่ง และกระจายสินค้า
- การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการปล่อยเช่าสินทรัพย์ขององค์กร