การจัดการห่วงโซ่อุปทาน

คู่ค้ารับทราบและปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณคู่ค้า ร้อยละ 100
คู่ค้ารายสำคัญได้รับการอบรมด้านความยั่งยืน ร้อยละ 50 ภายในปี 2573

ความท้าทาย และโอกาส

การจัดการห่วงโซ่อุปทานเป็นความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับปัจจัยหลายด้าน ตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ การบริหารต้นทุน และการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมในกระบวนการดำเนินงาน การเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เช่น นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น การคาดหวังของผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน และความซับซ้อนของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ทำให้บริษัทต้องมีความยืดหยุ่นและสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นโดยไม่กระทบต่อความยั่งยืน

แม้จะมีความท้าทาย แต่การจัดการห่วงโซ่อุปทานก็เป็นโอกาสสำคัญที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันและเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ การนำหลักการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ มาบูรณาการกับกระบวนการดำเนินงาน ช่วยลดต้นทุนระยะยาวจากการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสี่ยงทางกฎหมายและชื่อเสียง ตลอดจนสร้างความไว้วางใจให้กับคู่ค้า ลูกค้า และนักลงทุน นอกจากนี้ การสนับสนุนนโยบายด้านความยั่งยืนของภาครัฐ เช่น การใช้พลังงานทางเลือกและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังช่วยให้บริษัทมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจสีเขียวและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคม

เซ็นทรัล รีเทล ได้นำแนวทางต่าง ๆ มาใช้ในการบริหารห่วงโซ่อุปทาน เช่น การกำหนดจรรยาบรรณคู่ค้าและข้อผูกพันทางสัญญาเพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าปฏิบัติตามหลักด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ การส่งเสริมให้คู่ค้าพัฒนาแนวทางการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งและการใช้พลังงาน นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังเน้นการบริหารจัดการแรงงานอย่างเป็นธรรม และสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยเพื่อลดปัญหาสังคม การดำเนินมาตรการเหล่านี้ไม่เพียงช่วยลดความเสี่ยง แต่ยังสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียและนำไปสู่การเติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว

แนวทางการบริหารจัดการ

เซ็นทรัล รีเทล มุ่งมั่นในการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความร่วมมือกับคู่ค้า และผู้มีส่วนได้เสียในการดำเนินงานด้านความยั่งยืน โดยมีการดำเนินงานผ่านกลยุทธ์ที่สำคัญ ดังนี้

  • การมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลาง: ทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้า เพื่อนำเสนอสินค้าที่ผ่านการคัดสรรซึ่งสร้างแรงบันดาลใจและความประทับใจให้แก่ลูกค้า
  • คุณภาพและความหลากหลายของสินค้า: คัดเลือกสินค้าที่มีความสมดุลระหว่างคุณภาพและราคาที่ดีที่สุดเพื่อสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าให้มากที่สุด
  • การดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน: คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในสินค้าที่นำเสนอ

เซ็นทรัล รีเทล ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจร่วมกับคู่ค้าที่คำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม โดยได้ดำเนินการปรับปรุงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในกระบวนการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน และได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน (ISO 50001) ซึ่งช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการดำเนินงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังมีการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติด้านแรงงาน และเคารพต่อสิทธิมนุษยชนของพนักงาน และคู่ค้า เช่น ชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม การลดชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไป ค่าจ้างที่เป็นธรรม เป็นต้น ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ส่งเสริมให้คู่ค้ามีส่วนร่วมในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) ผ่านการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีและการจัดอบรมให้ความรู้แก่คู่ค้า รวมทั้งการบูรณาการแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนสู่การดำเนินธุรกิจของคู่ค้าอีกด้วย

ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน

เซ็นทรัล รีเทล ได้จัดทำระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน เพื่อให้มั่นใจว่าผู้มีส่วนได้เสียโดยเฉพาะอย่างยิ่งพนักงานและคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล มีการดำเนินงานที่สอดคล้องและปฏิบัติตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดต่าง ๆ ด้านความยั่งยืน เซ็นทรัล รีเทล จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยมีประธานซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในคณะกรรมการบรรษัทภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน และประกอบด้วยพนักงานระดับผู้บริหารจากทั้งฝ่ายจัดซื้อจัดจ้างและฝ่ายการจัดการห่วงโซ่อุปทานของแต่ละหน่วยธุรกิจ เพื่อกำกับดูแลระบบและแนวปฏิบัติด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนของเซ็นทรัล รีเทล นอกจากนี้เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดให้ระบุหลักจรรยาบรรณคู่ค้าลงในสัญญาและข้อตกลงเงื่อนไขทางการค้า เพื่อให้มั่นใจว่าคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล จะปฏิบัติตามหลักจรรยาบรรณดังกล่าว รวมทั้งเซ็นทรัล รีเทล มีการทบทวนแนวปฏิบัติด้านการจัดซื้อจัดจ้างอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักจรรยาบรรณและป้องกันการละเมิดหรือขัดแย้งกับข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ

เซ็นทรัล รีเทล มีระบบการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอย่างยั่งยืน โดยครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการคัดกรองคู่ค้าอย่างรอบด้าน ด้วยการจัดทำเมทริกซ์การคัดกรองคู่ค้า (Supplier Screening Matrix) และรายการเฝ้าระวังความเสี่ยง (CRC ESG Watchlist) คู่ค้าที่ถูกพิจารณาว่าเป็นคู่ค้ารายสำคัญจะได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดทั้งจากการตรวจสอบเอกสารและการสำรวจพื้นที่จริง นอกจากนี้เซ็นทรัล รีเทล ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรภายในองค์กร โดยได้จัดอบรมเชิงลึกด้าน ESG สำหรับพนักงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและผู้มีส่วนได้เสียอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้มีการพัฒนาคู่ค้าและเทียบเคียงผลการดำเนินงานด้าน ESG ระหว่างคู่ค้า เพื่อสร้างการแข่งขันเชิงบวกและเป็นแรงขับเคลื่อนให้คู่ค้าพัฒนาแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืนของตนเองต่อไป

นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างยั่งยืน
จรรยาบรรณคู่ค้า

การคัดกรองคู่ค้า การประเมินความเสี่ยง และการพัฒนาคู่ค้า

เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดกระบวนการระบุและประเมินความเสี่ยงด้านความยั่งยืนของคู่ค้า 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การคัดเลือกคู่ค้า 2) การคัดกรองคู่ค้า 3) การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า 4) แผนและแนวทางแก้ไข และ 5) การพัฒนาศักยภาพคู่ค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนของคู่ค้า ทั้งนี้ เซ็นทรัล รีเทล ได้มีการดำเนินงานร่วมกับคู่ค้าลำดับ 1 (Tier-1) ก่อนที่จะขยายผลสู่คู่ค้ารายอื่น ๆ ให้มีความครอบคลุมคู่ค้าทั้งหมดต่อไป

1. การคัดเลือกคู่ค้า

เซ็นทรัล รีเทล ได้กำหนดแนวทางการบริหารจัดการคู่ค้า โดยกำหนดให้คู่ค้าทั้งรายใหม่และรายปัจจุบันทั้งหมดต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล ซึ่งเป็นขัอกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ ขั้นพื้นฐาน หากคู่ค้ารายใดไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ภายในระยะเวลา 3 ปีอาจต้องถูกยกเลิกสัญญา

กระบวนการคัดเลือกคู่ค้า ประกอบไปด้วยเกณฑ์การประเมิน 2 ส่วนหลัก ได้แก่

  • เกณฑ์การดำเนินงานด้าน ESG (น้ำหนักร้อยละ 15) เป็นการประเมินเกี่ยวกับแนวปฏิบัติและการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการของคู่ค้า ที่สอดคล้องกับจรรยาบรรณคู่ค้า ผ่านแบบประเมินตนเอง (SAQ)
  • เกณฑ์ด้านการดำเนินธุรกิจ (น้ำหนักร้อยละ 85) เป็นการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจ และการตรวจสอบโรงงานหรือสถานประกอบการ

คู่ค้าทุกรายจะต้องประเมินตนเองผ่านแบบประเมิน (SAQ) เป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงให้เห็นถึงแนวปฏิบัติและกระบวนการจัดการด้าน ESG ของคู่ค้า โดยคู่ค้าที่ผ่านการประเมินจะถูกเพิ่มลงในทะเบียนคู่ค้า (AVL) และได้ทำสัญญากับเซ็นทรัล รีเทล โดยการประเมินอย่างครบถ้วนนี้จะดำเนินการเป็นประจำทุกปี คู่ค้าที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับการประเมินความเสี่ยงด้าน ESG ที่ละเอียดมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการประเมินความเสี่ยงของคู่ค้าอย่างต่อเนื่องของบริษัทฯ

หลังจากคู่ค้าได้เซ็นสัญญาและได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนคู่ค้าแล้ว คู่ค้าทุกรายจะต้องเข้าสู่กระบวนการคัดกรองคู่ค้าเพื่อระบุ “คู่ค้ารายสำคัญ” โดยเซ็นทรัล รีเทล นิยามคู่ค้ารายสำคัญโดยพิจารณาจากสองปัจจัยหลัก คือ ระดับความสำคัญทางธุรกิจที่มีต่อเซ็นทรัล รีเทล และระดับความเสี่ยงด้าน ESG ที่มีนัยสำคัญ ซึ่งครอบคลุมทั้งความเสี่ยงเฉพาะของประเทศที่ตั้งของธุรกิจ ประเภทอุตสาหกรรม และประเภทของสินค้าและบริการ

2. การคัดกรองคู่ค้า

เซ็นทรัล รีเทล ได้พัฒนากระบวนการคัดกรองคู่ค้าโดยใช้สองเครื่องมือหลักได้แก่ เมทริกซ์การคัดกรองคู่ค้า (Supplier Screening Matrix) และ รายการเฝ้าระวังด้าน ESG โดยการคัดกรองคู่ค้าจะพิจารณาจากเกณฑ์สำคัญ 2 ด้าน ดังนี้

  • 2.1 เกณฑ์ด้านธุรกิจ พิจารณาจากคู่ค้าที่มีนัยสำคัญต่อธุรกิจของบริษัทฯ ในด้านต่างๆ ดังนี้

    • มูลค่าการจัดซื้อรวม
    • ความสำคัญของส่วนประกอบของสินค้าหรือวัตถุดิบของคู่ค้า
    • ความสามารถในการทดแทนของคู่ค้า
  • 2.2 เกณฑ์ด้าน ESG พิจารณาจากคู่ค้าที่อาจมีความเสี่ยงเฉพาะ ในด้านต่าง ๆ ดังนี้

    • ความเสี่ยงเฉพาะประเทศ: ความเสี่ยงของผลกระทบด้าน ESG เชิงลบที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเมือง สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม หรือกฎระเบียบของแต่ละประเทศ
    • ความเสี่ยงเฉพาะภาคอุตสาหกรรม: ความเสี่ยงของผลกระทบด้าน ESG เชิงลบที่เกี่ยวข้องกับลักษณะเฉพาะของแต่ละภาคอุตสาหกรรม เช่น สถานการณ์ด้านแรงงาน การใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากร การปล่อยมลพิษ และศักยภาพในการก่อให้เกิดมลภาวะ
    • ความเสี่ยงเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์: ความเสี่ยงของผลกระทบด้าน ESG ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานของวัตถุดิบหรือสินค้า สถานการณ์ด้านแรงงาน การใช้ที่ดินและทรัพยากร การใช้พลังงาน การปล่อยมลพิษ ความเป็นพิษของวัสดุ และศักยภาพในการก่อให้เกิดมลภาวะ

    นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังได้วิเคราะห์ข้อมูลจากความคิดเห็นสาธารณะที่มีต่อคู่ค้า (Social Listening) ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยให้ได้รับทราบข้อมูลหรือข้อร้องเรียนที่อาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดต่อจรรยาบรรณคู่ค้า กฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง การรวบรวมข้อมูลจากการประเมินด้านธุรกิจ ความเสี่ยงด้าน ESG และความคิดเห็นสาธารณะ ช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถระบุคู่ค้ารายสำคัญได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. การประเมินความเสี่ยงของคู่ค้า

หลังจากกระบวนการคัดกรองคู่ค้า คู่ค้ารายสำคัญทุกรายจะต้องผ่านกระบวนการประเมินคู่ค้าด้วยการส่งเอกสารข้อมูลเชิงลึก และหลักฐานเพื่อประกอบการตรวจสอบและประเมินความเสี่ยงอย่างเป็นระบบ ในกระบวนการนี้เซ็นทรัล รีเทล ได้นำจรรยาบรรณคู่ค้า และหลักการตรวจสอบ SMETA มาใช้เป็นแนวทางในการตรวจประเมินคู่ค้าอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้น 4 ด้านหลัก ได้แก่ มาตรฐานแรงงาน อาชีวอนามัยและความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม และจริยธรรมทางธุรกิจ คู่ค้าจำเป็นต้องส่งหลักฐานที่แสดงถึงนโยบายและระบบการจัดการด้าน ESG ทั้งในอดีตและปัจจุบัน รวมถึงตัวชี้วัดที่แสดงถึงผลการดำเนินงานที่ดี เช่น รายงาน บันทึก ขั้นตอนการทำงาน และใบรับรองต่าง ๆ การประเมินคู่ค้าอย่างเป็นระบบนี้จะช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล สามารถกำหนดและจัดประเภทคู่ค้ารายสำคัญตามระดับความเสี่ยงสูง ปานกลาง และต่ำ โดยคู่ค้าที่มีความเสี่ยงปานกลางและต่ำจะถือว่าผ่านการประเมินความเสี่ยง

คู่ค้ารายสำคัญที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงโดยการสำรวจพื้นที่สถานประกอบการของคู่ค้า ซึ่งดำเนินการโดยพนักงานของเซ็นทรัล รีเทล ที่เกี่ยวข้อง เช่น ฝ่ายบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ฝ่ายจัดซื้อ ฝ่ายกำกับดูแล และฝ่ายตรวจสอบ หรือโดยบุคคลภายนอก กระบวนการดังกล่าวนี้จะช่วยให้ทั้งเซ็นทรัล รีเทล และคู่ค้าสามารถเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างรอบด้านมากขึ้น และระบุสาเหตุพื้นฐานของประเด็นความเสี่ยงได้ ทั้งนี้หากคู่ค้าไม่สามารถแก้ไขปัญหาหรือลดระดับความเสี่ยงให้อยู่ในระดับปานกลางหรือต่ำได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด 3 ปี คู่ค้าจะไม่ได้รับการต่อสัญญา และจะถูกถอดออกจากทะเบียนคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล

4. แผนและแนวทางแก้ไข

ข้อมูลที่ได้จากการประเมินคู่ค้าและการระบุสาเหตุของความเสี่ยงจากการสำรวจพื้นที่สถานประกอบการของคู่ค้า จะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาแผนปฏิบัติงานแก้ไขปัญหาสำหรับคู่ค้ารายสำคัญที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อช่วยในการแก้ไข ลดผลกระทบ และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งแผนนี้จะระบุสิ่งที่ต้องดำเนินการ ผู้รับผิดชอบ และกรอบเวลาในการจัดการกับประเด็นความเสี่ยง เป้าหมายเพื่อแก้ไขความเสี่ยงที่เกิดขึ้นแล้วในปัจจุบันและที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

หลังจากที่เซ็นทรัล รีเทล และคู่ค้าได้ตกลงแผนและแนวทางแก้ไขร่วมกันแล้ว คู่ค้าจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่ถูกระบุให้สำเร็จภายใน 3 ปี ก่อนที่จะมีการเข้าตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง หากผลประเมินในครั้งใหม่พบว่าระดับความเสี่ยงสูงลดลงสู่ระดับกลางหรือต่ำ เซ็นทรัล รีเทล จะขึ้นทะเบียนคู่ค้าในฐานข้อมูลคู่ค้า (AVL) แต่หากคู่ค้ารายใดไม่สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเกณฑ์ขั้นต่ำด้าน ESG ในเวลาที่กำหนด คู่ค้าจะไม่ได้รับการพิจารณาต่อสัญญากับเซ็นทรัล รีเทล

5. การพัฒนาศักยภาพคู่ค้า

นอกจากการตรวจติดตามผลการดำเนินงานด้าน ESG ของคู่ค้าแล้ว เซ็นทรัล รีเทล ยังได้มีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพร่วมกับคู่ค้าผ่านการให้คำแนะนำแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน และการจัดอบรมเพื่อพัฒนาศักยภาพ เพื่อให้คู่ค้าสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างสอดคล้องกับแนวทางด้านความยั่งยืนของเซ็นทรัล รีเทล และช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียและคู่ค้าตลอดห่วงโซ่คุณค่า

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังได้นำข้อมูลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของคู่ค้าที่ได้จากการประเมิน มาจัดแบ่งกลุ่มเป็นระดับความเสี่ยงสูง ปานกลาง และต่ำ และเผยแพร่ข้อมูลโครงการด้าน ESG ที่คู่ค้าได้ดำเนินการ เช่น โครงการประหยัดพลังงาน โครงการระบบน้ำรีไซเคิล นโยบายสิ่งแวดล้อม การต่อต้านการทุจริต และการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้ช่วยให้เซ็นทรัล รีเทล และคู่ค้า สามารถเห็นภาพรวมของการดำเนินงานด้าน ESG ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน เป็นแนวทางในการสร้างความร่วมมือและกระตุ้นให้คู่ค้ามีส่วนร่วมในแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์กับคู่ค้าและปรับปรุงผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนให้บรรลุเป้าหมายในระยะยาว เซ็นทรัล รีเทล ยังคงหาโอกาสในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงกำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพด้านความยั่งยืนใหม่ ๆ และแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในด้านความยั่งยืนกับคู่ค้าและผู้มีส่วนได้เสียอย่างต่อเนื่อง

ผลการประเมินความเสี่ยง

ความเสี่ยงด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

การดำเนินงานในห่วงโซ่อุปทานยังเผชิญกับความเสี่ยงในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการคู่ค้าและการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ซึ่งรวมถึงความเสี่ยงจากการพึ่งพาสินค้าหรือคู่ค้ารายเดียว ความผันผวนของราคาสินค้า ความไม่สอดคล้องกันระหว่างสินค้าและความต้องการของลูกค้าในเชิงประชากรศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และกลุ่มนักท่องเที่ยว รวมถึงความเสี่ยงด้านความปลอดภัยของสินค้า และความเสี่ยงจากการชะลอตัวของอุปสงค์ที่อาจเกิดจากสงครามหรือวิกฤติเศรษฐกิจ ในด้านความเสี่ยงในการดำเนินงาน เซ็นทรัล รีเทล ได้พิจารณาความเสี่ยงจากการบริหารสินค้าคงคลังที่อาจเกิดการล้นหรือขาด สินค้าล้าสมัย ข้อจำกัดด้านขีดความสามารถของระบบขนส่ง และปัญหาการขาดแคลนแรงงานในกระบวนการดำเนินงาน

นอกจากนี้ เซ็นทรัล รีเทล ยังให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านความยั่งยืน ซึ่งครอบคลุม 1) มิติสิ่งแวดล้อม การก่อมลพิษและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกินกว่าความจำเป็นทั้งในกระบวนการผลิตหรือจัดหาสินค้าของคู่ค้าและในกระบวนการการดำเนินงานห่วงโซ่อุปทาน 2) มิติกำกับดูแลกิจการ ความเสี่ยงจากการละเมิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้านพิธีการศุลกากร กฎหมายจราจรด้านการขนส่ง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและและการดำเนินงานภายในห่วงโซ่อุปทาน 3) มิติสังคม ความเสี่ยงจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า ความปลอดภัยในการดำเนินงานทั้งในคลังสินค้าและกระบวนการขนส่ง รวมถึงการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานหญิงตั้งครรภ์อย่างไม่เหมาะสม

ความเสี่ยงด้าน ESG ที่เกิดจากคู่ค้า

เซ็นทรัล รีเทล ได้ดำเนินการประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากคู่ค้าในประเด็นด้านความยั่งยืน และพบว่ามีความเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดขึ้นในหลายมิติ โดยเฉพาะในมิติกำกับดูแลกิจการ พบว่าคู่ค้าบางรายยังขาดการกำหนดนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล ซึ่งรวมถึงการจัดทำนโยบายด้านจรรยาบรรณทางธุรกิจ นโยบายต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน ตลอดจนนโยบายด้านความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลตามข้อกำหนดของพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) อีกทั้งยังขาดการจัดให้มีช่องทางสำหรับการแจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียนที่มีความโปร่งใสและเป็นความลับ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริต และส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของทั้งคู่ค้าและ เซ็นทรัล รีเทล ในระยะยาว

ในขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีความเสี่ยงในมิติด้านสังคม โดยเฉพาะในเรื่องการจัดการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งคู่ค้าบางรายยังไม่มีการกำหนดนโยบายหรือมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน อีกทั้งยังขาดการจัดอบรมหรือให้ความรู้ด้านความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงไม่มีแผนหรือมาตรการรองรับต่อสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติงาน ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อความปลอดภัยในการทำงาน เพิ่มโอกาสการเกิดอุบัติเหตุ และอาจนำไปสู่ความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน และชื่อเสียงของทั้งคู่ค้าและ เซ็นทรัล รีเทล ได้

โครงการสำคัญ

โครงการ เซ็นทรัล รีเทล โลจิสติกส์เพื่อ SME และความยั่งยืน

เซ็นทรัล รีเทล ได้ดำเนินโครงการเซ็นทรัล รีเทล โลจิสติกส์เพื่อ SME และความยั่งยืนให้กับคู่ค้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีและส่งเสริมให้คู่ค้าธุรกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม ผนวกแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนเข้าสู่กระบวนการทำงานของตน รวมถึงการจัดซื้อจัดหา การเก็บรักษาสินค้า การกระจายสินค้า การขนส่ง และการให้บริการลูกค้า โครงการนี้ช่วยให้คู่ค้ามีทักษะทางเทคนิคและเครื่องมือที่จำเป็นในการปรับแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืนของเซ็นทรัล รีเทล ผ่านการแบ่งปันความรู้พื้นฐานและแนวปฏิบัติที่ดี โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 267 คน

โครงการเสริมสร้างแนวปฏิบัติที่ยั่งยืน

ในปี 2567 เซ็นทรัล รีเทล ได้จัดค่ายเชิงกลยุทธ์สำหรับพนักงานด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน โครงการนี้มุ่งเน้นไปที่การผนวกแนวทางด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลกิจการ (ESG) เข้าไปในกระบวนการดำเนินงานของห่วงโซ่อุปทาน พร้อมแสดงให้เห็นว่าแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและลดต้นทุนได้อย่างไร โครงการนี้ประกอบด้วยการประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการจัดการพลังงานและของเสีย ตลอดจนหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งผู้เข้าร่วมได้รับความรู้และทักษะที่สามารถนำไปใช้ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานห่วงโซ่อุปทานของตนเองให้มีความยั่งยืนมากขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการนี้ทั้งสิ้น 101 คน

โครงการการประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ (SSCM) - SET

เซ็นทรัล รีเทล ได้เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนา "การประชุมเชิงปฏิบัติการการจัดการห่วงโซ่อุปทานเชิงกลยุทธ์ " ซึ่งจัดโดย SET ESG Academy ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย การเสวนามุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์ "ความยั่งยืนของห่วงโซ่อุปทาน" โดยมีตัวแทนจากบริษัทจดทะเบียนชั้นนำกว่า 60 แห่ง รวมถึงคู่ค้าของเซ็นทรัล รีเทล 7 ราย ซึ่งเป็นเวทีสำหรับแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกและประสบการณ์ด้านการจัดการห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างเครือข่ายระหว่างองค์กรที่เข้าร่วม

การจัดการพลังงานตามมาตรฐาน ISO 50001

ศูนย์กระจายสินค้า Non-Food มุ่งเน้นการส่งเสริมการจัดการพลังงานภายในบริษัทและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยดำเนินโครงการตามแนวทางมาตรฐาน ISO 50001 ซึ่งประกอบด้วยการฝึกอบรมและพัฒนาความเข้าใจของพนักงาน การติดตามข้อมูลพลังงาน การตรวจสอบและให้คำปรึกษา รวมถึงการประเมินเพื่อให้ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 50001 พนักงานทุกคนในศูนย์กระจายสินค้า Non-Food มีส่วนร่วมในโครงการผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การตรวจสอบภายในและภายนอก การฝึกอบรม และการมอบรางวัลมาตรฐาน ISO 50001 โดยโครงการนี้ตั้งเป้าลดการใช้พลังงาน ร้อยละ 2 ในปี 2567 และตั้งเป้าลดลงอีก ร้อยละ 2 ในแต่ละปีอย่างต่อเนื่อง

ผลการดำเนินงาน ปี 2567

คู่ค้าลำดับ 1 ทั้งหมด
9,154
คู่ค้ารายสำคัญทั้งหมด
2,119
คู่ค้าที่ถูกประเมินทั้งหมด
1,014
คู่ค้าใหม่ที่ได้รับการประเมินตาม เกณฑ์สิ่งแวดล้อมและสังคม

ร้อยละ100

เรื่องราวของเรา